เกี่ยวกับนโยบาย Medical Hub ...

เกี่ยวกับนโยบาย Medical Hub

การพัฒนาด้านการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub)

ตามที่รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต (New Engine of Growth) และผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (S-curve) โดยการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve) ในด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism) และเติมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve) ในด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) รองรับการขยายตัวของกลุ่มสินค้าและธุรกิจบริการสุขภาพโดยมีเป้าหมายในการเชื่อมต่อการค้าและการลงทุน ตลอดจนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพื่อจัดบริการสุขภาพที่ลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงระบบสุขภาพตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Value - Based Economy) ซึ่งมีความสอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ด้านการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน (การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการบริการทางการแพทย์) ประกอบกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (พ.ศ.2560 - 2569) ทั้ง 7 ยุทธศาสตร์ 4 ผลผลิตหลัก ได้แก่ Wellness Hub / Medical Service Hub / Academic Hub และ Product Hub ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2559 ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานโดยใช้กลไกของคณะกรรมการอำนวยการพัฒนาและส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้าน Medical and Wellness Tourism ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560 อนุมัติให้แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการเพื่อรองรับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (นโยบาย Medical Hub) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล และยุทธศาสตร์ฯ แทนคณะกรรมการอำนวยการและคณะอนุกรรมการฯ ชุดเดิม ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561

ยุทธศาสตร์ที่ 1เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการจัดบริการสุขภาพ

1. จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติและหน่วยงานกลางเพื่อบริหารและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ

แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (นโยบาย Medical Hub) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560 เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลด้าน Medical Hub ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (2560 - 2569) ซึ่งได้มีการประชุมฯ ครั้งที่ 1 / 2560 เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2560 ในประเด็น ดังนี้2) การพัฒนา Business Model นำร่องสู่การเป็นศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพและผลิตภัณฑ์สุขภาพ 3) การพัฒนาศักยภาพของบริการนวดไทยสู่สากล 4) การอำนวยความสะดวกแก่ชาวต่างชาติเพื่อการรักษาพยาบาลและเพื่อการพำนักระยะยาว 5) การพัฒนาระบบประกันอุบัติเหตุสำหรับชาวต่างชาติ (Personal Accident Fee) 6) การพัฒนาบริการสุขภาพในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 7) การจัดการทำข้อมูลรองรับนโยบาย Medical Hub ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 8) การประชาสัมพันธ์กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพตามนโยบาย Medical Hub และ 9) การขับเคลื่อนนโยบายสู่การเป็นศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub) เป็นต้น

2. กำหนดมาตรการในการอำนวยความสะดวกแก่ชาวต่างชาติในการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย

- ขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทย รวม 90 วัน สำหรับผู้ป่วยและผู้ติดตาม รวม 4 ราย กรณีเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาล สำหรับกลุ่มประเทศ GCC (สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์รัฐกาตาร์รัฐคูเวตรัฐสุลต่านโอมานราชอาณาจักรบาห์เรน และราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย) กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) และสาธารณรัฐประชาชนจีน

- ขยายระยะเวลาพำนักราชอาณาจักรไทยสำหรับกลุ่มพำนักระยะยาว (Long Stay Visa) นำร่อง 14 ประเทศกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เดนมาร์ก นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน อังกฤษ ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ อิตาลี เยอรมนีสวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย อเมริกา ญี่ปุ่น และแคนาดา จากเดิม 1 ปี เป็น 10 ปี โดยต่ออายุครั้งแรก ๕ ปี และครั้งที่สอง ๕ ปี รวมเป็น 10 ปี ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลไทยกำหนด

ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาบริการรักษาพยาบาล

1. ส่งเสริมพัฒนาสถานบริการสุขภาพ ให้ผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานนานาชาติทั้งมาตรฐาน HA และ JCI

ส่งเสริมพัฒนาให้โรงพยาบาลและคลินิกในประเทศไทย ได้รับการรับรองมาตรฐาน Hospital Accreditation (HA) รวม 1,381 แห่ง และมาตรฐาน Joint Commission International (JCI) รวม 61 แห่ง ทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน

2. การให้สิทธิประโยชน์แก่สถานพยาบาลภาคเอกชนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนทั้งในส่วนการลงทุนใหม่ และขยายกิจการ

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้สิทธิประโยชน์โครงการลงทุนในกลุ่มกิจการผลิตยา และการผลิตเครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) โดยในกลุ่มกิจการผลิตยาจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 5 ปี จากเดิมที่ไม่เคยได้รับการยกเว้น และหากโครงการใดยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในปี 60 จะได้รับการยกเว้นภาษีเป็น 8 ปี

3. จัดตั้งศูนย์ล่าม เพื่อให้บริการด้านภาษาต่างประเทศในทุกภาษาแก่สถานพยาบาล โดยตั้งในจังหวัดท่องเที่ยวชั้นนำ

ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดำเนินงานด้านการประสานงานแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับท่องเที่ยว รับเรื่องร้องเรียนอำนวยความสะดวกให้บริการนักท่องเที่ยว ประสานกับส่วนราชการ และเอกชนในด้านความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว และอื่นๆ ตามนโยบายที่รัฐบาลและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามอบหมายในปัจจุบันมีภารกิจเร่งด่วน

4. พิจารณาอนุญาตให้สถานพยาบาลภาคเอกชนสามารถนำยาที่ผ่านการขึ้นทะเบียนจาก FDA ของต่างประเทศ แล้วสามารถใช้ในการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยได้ รวมทั้งยาที่ผู้ป่วยนำติดตัวเข้ามาเพื่อการรักษาพยาบาลต่อเนื่องในสถานพยาบาลเอกชนของไทย

ตามราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ค่าใช้จ่ายที่จะจัดเก็บจากผู้ยื่นคำขอในกระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์ยา พ.ศ. ๒๕๖๐ ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2560 เพื่อให้กระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์ยามีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เป็นประโยชน์ในการเร่งรัด/พิจารณาอนุญาตให้เป็นไปตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในกฎหมาย ซึ่งเป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี จึงได้มีการกำหนดค่าใช้จ่ายที่จะจัดเก็บ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในกระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์ยา ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๗๗/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๙ เรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ

1. ส่งเสริมพัฒนาสถานประกอบการเพื่อสุขภาพทุกประเภทให้ผ่านการรับรองคุณภาพและมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด

ส่งเสริมพัฒนาสถานประกอบการเพื่อสุขภาพให้มีคุณภาพมาตรฐาน และเป็นไปตามพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2559) รวมถึงกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ทั้ง 13 ฉบับ (ประกาศใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 เป็นต้นไป) โดยให้การรับรองมาตรฐานของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพรวม 3 ประเภท ได้แก่ นวดเพื่อสุขภาพ สปาเพื่อสุขภาพ และนวดเพื่อเสริมความงาม ปัจจุบันมีสถานประกอบการเพื่อสุขภาพได้รับการรับรองฯ รวมทั้งสิ้น 2,380 แห่ง

2. ส่งเสริมพัฒนาสถานประกอบการสปาเพื่อสุขภาพให้มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล

พัฒนาบุคลากรประเภทนวดไทยด้านบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ รองรับตลาดสหรัฐอเมริกา ในประเด็น ดังนี้(1) เทียบเคียงหลักสูตรกลางนวดไทยเพื่อสุขภาพขั้นสูง 600 ชั่วโมง ต่อ CAMTC เพื่อให้มีคุณสมบัติครบถ้วนในการสอบ MBLex / ได้รับ License ด้าน CMT และสามารถทำงานในประเทศไทยได้(2) ให้มีการต่อยอดจากหลักสูตรกลางที่น้อยกว่า 600 ชั่วโมง กับ CAMTC(3) ให้มีการอบรมเพิ่มพูนทักษะตามหลักสูตรเฉพาะ (4) ให้มีโรงเรียนของประเทศไทยได้รับการรับรองเป็น Approved School (phase 2) ในสหรัฐอเมริกา (5) ให้มีการรับรองสถานประกอบการในต่างประเทศ โดยมีมาตรฐานแบบสากล (6) ให้มีการจัดตั้งสมาพันธ์ (Federation) และ (7) ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการประสานงานด้านสปาไทย/นวดไทย

3. รับรองคุณภาพและมาตรฐานของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพของผู้ประกอบการชาวไทยที่เปิดดำเนินการในต่างประเทศ

จากการตรวจประเมินสถานประกอบเพื่อสุขภาพในต่างประเทศที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีสถานประกอบการเพื่อสุขภาพผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินและได้รับตราสัญลักษณ์รับรองคุณภาพมาตรฐานจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ รวม 15 แห่ง ดังนี้ ประเทศเยอรมัน 7 แห่ง / ออสเตรีย 2 แห่ง และสวิตเซอร์แลนด์ 6 แห่ง

4. นำน้ำพุร้อนไปวิเคราะห์ด้วยวิธีทางเคมีเพื่อหาแร่ธาตุและสาระสำคัญ

กรมวิทยาศาสต์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการวิเคราะห์คุณสมบัติแร่ธาตุในน้ำเพื่อการใช้ประโยชน์ด้านสุขภาพ พบว่า น้ำที่ได้จากแหล่งน้ำพุร้อนมีคุณสมบัติของแร่ธาตุในน้ำต่อสุขภาพ เนื่องจากน้ำพุร้อนเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีน้ำไหลขึ้นมาจากใต้ดิน จึงมีประโยชน์สุขภาพ และรักษาบรรเทาอาการบางอย่างที่เป็นสาเหตุของโรคได้ จากผลการสำรวจของกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแหล่งน้ำพุร้อนจำนวน 112 แหล่ง กระจายอยู่ทั่วไปทุกภาค วัดอุณหภูมิน้ำร้อนที่ผิวดินอยู่ในช่วง 40 – 100 องศาเซลเซียส

5. จัดทำแผนการตลาดและการประชาสัมพันธ์เมืองสปาน้ำพุร้อนหรือเส้นทางท่องเที่ยวสปาน้ำพุร้อน

พัฒนาแหล่งน้ำพุร้อนมุ่งสู่เมืองสปาและเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นำร่องในจังหวัดกระบี่ เพื่อพัฒนาให้เป็น Wellness Center โดยใช้ทรัพยากรธรณี (น้ำพุร้อน/น้ำตกเย็น/ทะเล/โคลน) มุ่งสู่การเป็นเมืองสปาและเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบบยั่งยืน (Spa Town) ของประเทศไทย

ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาบริการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

จัดตั้งเมืองสุขภาพแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกแบบครบวงจร ใน 4 แห่ง ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดสกลนคร และจังหวัดสุราษฎร์ธานี

พัฒนา Wellness City แบบครบวงจร และจัดตั้ง Herbal City นำร่องจังหวัดปราจีนบุรี โดยบูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้มีการประชุมหารือแนวทางการพัฒนาต้นแบบ (Model) และจัดทำรายละเอียด (Feasibility) เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานในลักษณะบูรณาการร่วมกัน พร้องทั้งขยายผลไปสู่จังหวัดเป้าหมายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนาบริการวิชาการและงานวิจัยทางการแพทย์ (Academic Hub)

1. กำหนดสาขาและอัตรากำลังการผลิตระดับ Post graduate ในสาขาที่บรรจุในยุทธศาสตร์ ให้ตรงความต้องการและลดความเหลื่อมล้ำตาม Service plan ของประเทศ

พัฒนาระบบการเรียนการสอนโดยภาคเอกชน (Affiliated Private Training) โดยการผลักดันให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนร่วมกับภาครัฐ ซึ่งจะสามารถเป็นช่องทางในการใช้ศักยภาพของโรงพยาบาลเอกชนและผู้เชี่ยวชาญในภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้มีความสามารถทางการแพทย์และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ในลักษณะ Affiliate โดยดำเนินการให้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติ ดังนี้ 1) พรบ.สถานพยาบาล พ.ศ.2559 มาตรา ๑๐ 2) พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2559 มาตรา ๓๘ 3) พรบ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 มาตรา 8 และ4) พรบ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มาตรา 26

2. พัฒนาศักยภาพบุคลากรใน 3 วิชาชีพหลักเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายภายใต้ข้อตกลงยอมรับร่วม (MRAs) รวมทั้งการเตรียมจัดทำ MRAs ในกลุ่มวิชาชีพอื่นๆ เพิ่มเติมตลอดจนการสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรกลุ่มนี้

พัฒนาการเคลื่อนย้ายของบุคคลธรรมดาผู้ประกอบวิชาชีพสาขาบริการสุขภาพภายใต้กรอบการค้าอาเซียน (MRAs) เพื่อเตรียมการ รองรับการเคลื่อนย้ายของผู้ประกอบวิชาชีพสาขาแพทย์ ทันตแพทย์ และพยาบาล ตามความตกลงการยอมรับคุณสมบัติร่วมของบุคคลธรรมดา (MRAs) ภายใต้กรอบการค้าบริการสุขภาพอาเซียน โดยพัฒนาเว็บไซต์กลางด้าน MRAs ร่วมกับประเทศอินโดนีเซีย ได้แก่ www.aseanhealthcare.org และแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาและบริหารจัดการเว็บไซต์

3. ส่งเสริมให้ สมาคม/ราชวิทยาลัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นสมาชิกองค์กรระดับนานาชาติ เพื่อมีสิทธิในการเข้าร่วมประมูลงาน (Bidding) และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ (World Congress)

ร่วมกันกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ในด้านการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการจัดประชุมวิชาการและนิทรรศการทางการแพทย์นานาชาติ เพื่อให้มีการพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ทางวิชาการ ส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศ กระตุ้นการท่องเที่ยว ตลอดจนสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยในส่วนที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการจัดประชุม ได้แก่ 1) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “พัฒนาศักยภาพองค์กร/หน่วยงานในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการนานาชาติทางการแพทย์” 2) จัดทำสารสนับสนุนการประมูลสิทธิ์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติ 3) จัดเตรียมข้อมูล กรณีมีการขอสนับสนุน Logo กรมสนับสนุนบริการสุขภาพหรือ Logo กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้สนับสนุนการจัดงาน และ 4) ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง / ต้อนรับวิทยากรต่างชาติที่เดินทางเข้ามาบรรยายในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 6 พัฒนายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ

Product Champion ของสมุนไพรที่มีความพร้อม

ตามแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 - 2564 (ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559) ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างความเข้มแข็งของการบริหารและนโยบายของภาครัฐเพื่อการขับเคลื่อนสมุนไพรอย่างยั่งยืน มาตรการที่ 5 การส่งเสริมและพัฒนาสมุนไพร Product Champion ได้แบ่งมิติสมุนไพรที่มีศักยภาพออกเป็น 3 มิติ ได้แก่ ด้านศักยภาพ ด้านความต้องการ และด้านความน่าสนใจในอนาคต ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลให้การสนับสนุนสมุนไพร Product Champion 4 ชนิด ได้แก่ กระชายดำขมิ้นชันบัวบก และไพล รวมทั้งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณสนับสนุนการขับเคลื่อนพืชสมุนไพรในวงเงิน 1,258 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 7 ส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์

1. จัดทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ผ่าน Electronic Marketing / Social Media

ประชาสัมพันธ์นโยบาย Medical Hub ในรูปแบบวีดิทัศน์ผ่านระบบ In Flight Entertainment และเอกสารแทรกในนิตยสารสวัสดี เป็นภาษาอังกฤษ ระยะเวลาประมาณ 3 นาที เพื่อสื่อถึงความพร้อมของประเทศไทยในด้านการรักษาพยาบาล บริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่มีศักยภาพ โดยบูรณาการทำงานร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อผลิตสื่อและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์นโยบาย Medical Hub บนสายการบินไทย

2. ส่งเสริมให้มีการทำ Business Matching ระหว่าง Agent และผู้ประกอบการหรือสถานพยาบาล

- จัดทำแพคเกจพิเศษด้านสุขภาพรองรับการบริการชาวต่างชาติภายใต้โครงการ “Visit Thailand enhance your healthy life” แบบ One Price Policy โดยให้บริการแพคเกจสุขภาพใน 3 รูปแบบ และมีสถานพยาบาลสมัครเข้าร่วมโครงการ ดังนี้ (1) บริการตรวจสุขภาพ จำนวน 36 แห่ง(2) บริการทางทันตกรรม จำนวน 36 แห่ง และ (3) บริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ จำนวน 23 แห่ง ซึ่งเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2559 - 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 (ยกเว้นบริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ที่ไม่มีกำหนดสิ้นสุดโครงการ)

- ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการด้านธุรกิจบริการสุขภาพชาวไทยได้เจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการต่างประเทศ (Business Matching) รวมทั้งประชาสัมพันธ์ Medical and Wellness Tourism ในต่างประเทศ ได้แก่ การประชุมปรึกษาหารือเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการชาวไทยในต่างประเทศ การเผยแพร่ผลิตภัณฑ์สุขภาพและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 1เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการจัดบริการสุขภาพ

1. พัฒนาระบบสารสนเทศและข้อมูลที่สำคัญรองรับนโยบาย Medical Hub

- จัดทำคลังข้อมูลรองรับนโยบาย Medical Hub โดยบูรณาการร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเชื่อมโยงระบบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาฐานข้อมูลสารสนเทศด้านการแพทย์และบริการสุขภาพรองรับนโยบาย Medical Hub รวมทั้งพัฒนาแนวทาง/จัดทำ MOU เพื่อเตรียมการเชื่อมโยงข้อมูลทั้ง Primary Data และ Secondary Data ต่อไป

- บริการข้อมูลสุขภาพแก่ชาวไทยและชาวต่างชาติผ่าน Web Portal : www.thailandmedicalhub.net และ Counter Service ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อให้บริการข้อมูลด้านนโยบาย Medical Hub และการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคเกี่ยวกับการเข้ารับบริการรักษาพยาบาล ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ 02-193-7999 ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ได้เตรียมการจัดตั้ง Counter Service ที่ให้บริการข้อมูลด้าน Medical Hub แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง

2. กำหนดมาตรการในการจัดเก็บค่าประกันอุบัติเหตุสำหรับชาวต่างชาติในลักษณะภาคบังคับ (Personal Accident Fee) สำหรับกรณีอุบัติเหตุ

พัฒนาระบบประกันอุบัติเหตุสำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย (Personal Accident Fee) ด้วยวิธีออกกฎหมายให้มีการซื้อประกันอุบัติเหตุในลักษณะภาคบังคับ โดยบูรณาการทำงานร่วมกับ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมการกงสุล สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งได้พิจารณาถึงรูปแบบการดำเนินการ และจัดทำแผนความคุ้มครอง/กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย

3. กำหนดมาตรการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการจัดบริการสุขภาพร่วมกัน (Public Private partnership (PPP) รวมทั้งการเสนอโครงการด้านธุรกิจสุขภาพภายใต้พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556

จากการประชุมเพื่อนำเสนอแนวทางการจัดทำโครงการที่ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ร่วมกับศูนย์วิจัยขีดความสามารถในการแข่งขัน สำนักวิจัย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์สำนักบริหารการสาธารณสุขสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งได้เป็นแนวทางในการจัดทำโครงการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 และการพิจารณาจัดทำโครงการที่ให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐให้สอดคล้องตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ต่อไป

ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาบริการรักษาพยาบาล

1. มีระบบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตรง (Reimbursement) จากรัฐบาลในต่างประเทศ รวมทั้งการเบิกจ่ายจากบริษัทประกันสุขภาพภาคเอกชนในกรณีที่พลเมืองของประเทศเหล่านั้นเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลในไทยในลักษณะ G to G หรือ G to B

โดยมีแนวทางในการเจรจา/ทำข้อตกลงร่วมกันในลักษณะรัฐต่อรัฐ / รัฐต่อผู้ประกอบการ หรือบริษัทประกันที่มีศักยภาพ / บริษัทประกันขนาดใหญ่ในต่างประเทศ นำร่องในประเทศกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ทำประกันไว้ในประเทศของตน สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลและใช้สิทธิ์ได้ครอบคลุมตามรายละเอียดของกรมธรรม์ ในกรณีที่เข้ามารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทย รวมทั้งพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดทำ Contract Agreement

2. จัดตั้งระบบการช่วยเหลือหรือส่งต่อผู้รับบริการชาวต่างชาติ ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ให้มีความครอบคลุม รวดเร็ว และมีมาตรฐานสากล

โดยเขตสุขภาพ ที่ 5 / 6 และ 12 ของกระทรวงสาธารณสุข อยู่ระหว่างการพัฒนาและจัดทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับร่างยุทธศาสตร์การสาธารณสุขทางทะเล ซึ่งมีแนวทางในการจัดทำมาตรฐานการแพทย์ฉุกเฉินทางทะเลด้าน Safety beach และ Safety trip โดย Safety beach ให้หน่วยงานกรมแพทย์ทหารเรือที่มีองค์ความรู้ มีการจัดตั้งเวชศาสตร์ทางทะเล แนวทางการทำงานต่างๆ กับต่างประเทศ ส่วน Safety trip ให้กรมควบคุมโรคทำมาตรฐานบนเรือ และกรมการแพทย์ ควบคุมให้มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ และให้ดำเนินการหลักจากมีคำสั่งคณะกรรมการสาธารณสุขทางทะเลฯ ต่อไป

3. พิจารณาให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ทั้งระดับ under graduate/ post graduate

ได้จัดทำแนวทางเพื่อดำเนินการ ดังนี้ 1) กำหนดรูปแบบการจัดการเรียนการสอนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนในลักษณะ Affiliate การกำหนดคู่ในบริการระหว่างภาครัฐและเอกชนในการสร้าง Model นำร่องให้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล 2) เชิญผู้เชี่ยวชาญ (Professor) จากต่างประเทศเพื่อมาร่วมสอนในชั้นคลินิกของสถานพยาบาลในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) ซึ่งเป็นการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการ 3) การออกใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพชั่วคราวแก่ผู้เชี่ยวชาญในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) 4) พิจารณาแก้ไขสารัตถะให้สถานพยาบาลจัดการเรียนการสอนได้ทั้งในส่วนภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในพระราชบัญญัติสถานพยาบาล

4. พิจารณาให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพชั่วคราว (Temporary license) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ชาวต่างชาติเพื่อสามารถให้บริการในสถานพยาบาลเอกชนแก่ผู้ป่วยหรือเพื่อใช้ในการเรียนการสอนระดับหลังปริญญา อันจะนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานบุคลากรของไทย

พิจารณาความเป็นไปได้ในการกำหนดแนวปฏิบัติ/ระเบียบที่อนุญาตให้แพทย์ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาสอนในสถาบันการศึกษา/โรงพยาบาลของภาครัฐและแบ่งช่วงเวลาไปสอนหรือปฏิบัติงานในภาคเอกชน โดยมีภาครัฐเป็นผู้เชิญเข้ามา ซึ่งการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมชั่วคราวส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ และให้โอกาส Practice ในไทยได้ไม่เกิน 1 ปี แต่การดำเนินงานดังกล่าวอาจมีข้อจำกัด เรื่องข้อบังคับที่ต้องขอขึ้นทะเบียนใบอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ และยังไม่มีการกำหนดคำจำกัดความไว้อย่างชัดเจน

ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ

1. ยกระดับการบริการนวดไทยให้เป็นมรดกและวัฒนธรรมของโลก (ผ่านการรับรองจาก UNESCO)

- ยกระดับบริการนวดไทยให้ผ่านการรับรองจาก UNESCO โดยประกาศให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลกที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Heritage) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้กระทรวงวัฒนธรรมดำเนินการตามกรอบระยะเวลา 2 ปี โดยคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานขององค์การ UNESCO จะมีขั้นตอนตรวจสอบรายการนวดไทยเป็นมรดกโลก โดยใช้ระยะเวลา 1 ปี ในการพิจารณา หลังจากองค์การ UNESCO ให้ความเห็นชอบ และออกเป็นประกาศขององค์การ UNESCO ภายในระยะเวลา 1 ปี

- ประกาศให้อาชีพนวดไทยเป็นอาชีพสงวนสำหรับชาวไทย และมีขอบเขตบังคับใช้เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งได้เสนอเรื่องไปยังกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เพื่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพิ่มบทยกเว้นให้อาชีพนวดไทยเป็นงานที่คนต่างด้าวไม่สามารถกระทำได้ในกฎหมายลำดับรองเกี่ยวกับการกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ที่ออกตามความในพระราชกำหนดการบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการร่วมรวมข้อคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อรวบรวมประเด็นสำคัญและนำเสนอไปยังกรมการจัดหางาน กรทรวงแรงงานพิจารณาจัดทำกฎหมายลำดับรองฯ ต่อไป

2. พัฒนาผลิตภัณฑ์จากน้ำพุร้อน

จากการลงพื้นที่และหารือเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำพุร้อน มุ่งสู่เมืองสปาและเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นำร่องในอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ โดยบูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาชน องค์การนอกภาครัฐ (กลุ่ม NGO) ซึ่งสามารถใช้เป็นแนวทางในการการจัดทำข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ การจัดทำ Business Model /Business Story และการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมทั้งการพัฒนามูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์โดยอบรมความรู้สมาชิกชุมชนเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP จากน้ำพุร้อน และพัฒนาบริการสปา เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 6 พัฒนายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ

1. ส่งเสริมพัฒนาให้มีการผลิตเครื่องมือแพทย์ในลักษณะนวัตกรรมในประเทศเพิ่มมากขึ้นตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI และมาตรการทางภาษีที่เอื้อต่อผู้ประกอบการ

พัฒนาบริการสุขภาพและการส่งเสริมการลงทุนด้านธุรกิจบริการรักษาพยาบาลรองรับHigh Technology รวมทั้งพัฒนาให้มีการผลิตเครื่องมือแพทย์ในลักษณะนวัตกรรมในประเทศเพิ่มมากขึ้นตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI และมาตรการทางภาษีที่เอื้อต่อผู้ประกอบการ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) โดยบูรณาการทำงานร่วมกับสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก / BOI และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2. ส่งเสริมให้มีการทำวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรม รองรับความต้องการของตลาด

จัดทำแนวทางในการส่งเสริมให้มีการทำวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมรองรับความต้องการของตลาด ในด้านอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) รองรับนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Value - Based Economy) และการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)

ยุทธศาสตร์ที่ 7 ส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์

จัดงานมหกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศไทย สำหรับกลุ่มเป้าหมายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

เตรียมจัดทำแพคเกจพิเศษด้านสุขภาพ สำหรับบริการรักษาพยาบาลและบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ภายใต้โครงการ “ปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋ยั่งยืน” หรือ “Amazing Thailand Tourism Year 2018” ในหัวข้อกิจกรรม Medical and Wellness Tourism ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และภาคเอกชน โดยจัดทำแพคแกจพิเศษด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาลด้าน Health Checkup และ Dental Service ในรูปแบบ One-Price Policy รองรับกลุ่ม Non Thai ที่ไม่ใช่กลุ่ม Expat ตลอดทั้งปี ซึ่งมีโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมโครงการ พร้อมทั้งเสนอให้จัดทำบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพเพิ่มเติม (Exclusive Spa Package) ให้สอดคล้องกับฤดูกาลท่องเที่ยวในแต่ละภาค รองรับชาวต่างชาติด้วย

1.ยกระดับคุณภาพบริการในระบบสุขภาพของประเทศไทย
2.ประชาชนเข้าถึงบริการสถานพยาบาลที่มีคุณภาพมาตรฐานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
3.สร้างเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนจากการมีงานทำ มีสุขภาวะที่ดี และมีความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว
4.ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดี และมีชื่อเสียงในด้านบริการสุขภาพ และมีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาคและระดับจุลภาคจากธุรกิจสุขภาพ

Ministry of Public Health [TH] 

The Medical Council of Thailand

Thailand Nursing and Midwifery Council

The Thai Peri-Operative Nurese [TH] 

The Pharmacy Council of Thailand [TH] 

National Health [สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)] 

National Health Security Office (NHSO)  Contact Center :1550 

Security Service Office [TH]  Contact Center : 1506 

The Healthcare Accreditation Institute (Public Organization) 

ศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจระหว่างประเทศ [TH] กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ 

 Department of International Trade Department [TH] กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

Office of Service Trade Promotion สำนักงานพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ 

Ministry of Foreign Affairs of the Kingdom of Thailand

Ministry of Digital Economy and Society

Association of SouthEast ASIAN Nations

Health Assembly [สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ]

Health Systems Research Institute (HSRI) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข 

Thai Accupuncture

Board of Investment

Thailand International Cooperation Agency (TICA) 

Hfocus [TH] เจาะลึกระบบสุขภาพ 

Tourism Authority of Thailand

Medical Tourism Association 

Medical Tourism made simple 

Joint Commission International [Thailand] 

Federal Advisory Committee (FACAs) 

Obamacare Facts 

International Union for Health Promotion and Education